การจัดเก็บแฟ้มภาพกราฟิก


 การจัดเก็บแฟ้มภาพกราฟิก
 
   ในงานกราฟิกนั้นจะมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างหรือแก้ไขภาพกราฟิก  ซึ่งจะพบว่า  ความเร็วในการประมวลผลภาพแต่ละภาพช้าเร็วต่างกัน  ทั้งนี้เพราะว่า  แต่ละแฟ้มภาพใช้เนื้อที่ในการเก็บข้อมูลไม่เท่ากัน  ซึ่งจะขึ้นกับ  ความละเอียดของภาพ  จำนวนสี  และรูปแบบของแฟ้มข้อมูล
3.3.1  ความละเอียดของภาพ 
             ความละเอียดของภาพหมายถึง  จำนวนจุดที่ใช้ในการประกอบกันเป็นภาพ  เช่น  ความละเอียดของภาพขนาด 640 x 480 จุด
3.3.2  จำนวนสี
             จำนวนสีหมายถึง  จำนวนสีที่จุดภาพสามารถเก็บหรือแสดงได้  เช่น จุดภาพ 1 จุดที่ใช้เนื้อที่ 8 บิต  จะมีจำนวนสีได้ 256 สี
3.3.3  รูปแบบของแฟ้มข้อมูลกราฟิก 
             รูปแบบของแฟ้มข้อมูลกราฟิก  หมายถึง  รูปแบบของข้อมูลที่ใช้ในการจัดเก็บภาพกราฟิกลงในแฟ้ม  มีหลายรูปแบบให้เลือกใช้งาน  ตัวอย่างเช่น
          1)  จิฟ  (Graphics interchange Format : GIF)  หรือที่มีส่วนขยายแฟ้มเป็น .GIF เป็นรูปแบบการเปลี่ยนระหว่างกราฟิกแฟ้มภาพกราฟิกที่พัฒนาขึ้นมาใช้เข้ารหัสและรับส่งแลกเปลี่ยนแฟ้มภาพกราฟิกบนอินเทอร์เน็ต  จึงมีการบีบอัดข้อมูลให้มีขนาดเล็กลงเพื่อลดขนาดของแฟ้ม  โดยกำหนดให้ภาพที่เก็บด้วยรูปแบบนี้แต่ละจุดภาพมีขนาด  8 บิต  ภาพที่เก็บด้วยรูปแบบนี้จึงมีความละเอียดที่จำนวนสี  256 สี   ซึ่งพอเพียงกับการใช้งานในการทำงานปกติทั่วไป  มักจะใช้เมื่อต้องการไฟล์ที่มีขนาดเล็ก , จำนวนสีและความละเอียดของภาพไม่สูงมากนัก , ต้องการพื้นแบบโปร่งใส , ต้องการแสดงผลแบบโครงร่างก่อน แล้วค่อยแสดงผลแบบละเอียด , ต้องการนำเสนอภาพแบบภาพเคลื่อนไหว
จุดเด่น
  • มีขนาดไฟล์ต่ำ
  • สามารถทำพื้นของภาพให้เป็นพื้นแบบโปร่งใสได้ ( Transparent)
  • มีระบบแสดงผลแบบหยาบและค่อยๆ ขยายไปสู่ละเอียดในระบบ Interlace
  • มีโปรแกรมสนับการสร้างจำนวนมาก
  • เรียกดูได้กับ Graphics Browser ทุกตัว
  • ความสามารถด้านการนำเสนอแบบภาพเคลื่อนไหว ( Gif Animation)
จุดด้อย
  • แสดงสีได้เพียง 256 สี
ไฟล์ .GIF มี 2 สกุล ได้แก่
GIF87 พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1987
              เป็นไฟล์กราฟิกรุ่นแรกที่สนับสนุนการนำเสนอบนอินเทอร์เน็ต เป็นไฟล์ที่มีขนาดเล็กและแสดงผลสีได้เพียง 256 สี และกำหนดให้แสดงผลแบบโครงร่างได้ (Interlace)
GIF89A พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1989
              เป็นไฟล์กราฟิกที่พัฒนาต่อจาก GIF87 โดยเพิ่มความสามารถการแสดงผลแบบพื้นโปร่งใส ( Transparent) และการสร้างภาพเคลื่อนไหว (GIF Animation) ซึ่งเป็นไฟล์กราฟิกที่มีความสามารถพิเศษโดยนำเอาไฟล์ภาพหลายๆ ไฟล์มารวมกันและนำเสนอภาพเหล่านั้นโดยอาศัยการหน่วงเวลา มีการใส่รูปแบบการนำเสนอลักษณะต่างๆ( Effects) ในลักษณะภาพเคลื่อนไหว
          2)  เจเพ็ก (Joint Photographic Expert Group Graphics : JPEG)  หรือที่มีส่วนขยายแฟ้มเป็น    .JPEG เป็นรูปแบบของแฟ้มภาพกราฟิกแบบกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภาพ ที่พัฒนาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ได้รับการสนับสนุนโดยองค์การระหว่างประเทศ ว่าด้วยมาตรฐาน ( ISO) และคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศเกี่ยวกับโทรเลขและโทรศัพท์(CCITT)  รูปแบบนี้เหมาะสำหรับงานถ่ายภาพ  ภาพศิลปะ  และภาพวาดที่มีคุณภาพสีสันตามธรรมชาติ  ความละเอียดคมชัดไม่เหมาะกับงานภาพลายเส้น  ข้อความ  หรืองานการ์ตูนง่าย ๆ การบีบอัดภาพของรูปแบบกราฟิกนี้จะทำให้คุณภาพของภาพบางส่วนสูญหายไป  โดยใช้หลักการมองเห็นของมนุษย์ที่ว่า  สีที่มีการเปลี่ยนไปเล็กน้อยจะสังเกตพบได้ไม่ชัดเจนเท่ากับการเปลี่ยนความเข้มแสง  ปกติสัดส่วนของการบีบอัดของรูปแบบกราฟิกนี้จะเป็น 10 : 1 หรือ 20 : 1   ซึ่งจะไม่ทำให้สามารถสังเกตเห็นคุณภาพของภาพที่ลดลง  จุดภาพแต่ละจุดมีขนาด 24 บิต  แยกเก็บเป็นแม่สีที่แต่ละสีมีขนาด  8  บิต  เมื่อผสมสีทั้งหมดจะได้เท่ากับ256x256x256 สี  หรือประมาณ 16 ล้านสี  อย่างไรก็ตามรูปแบบของกราฟิกนี้สามารถเลือกลดจำนวนสีลงให้เหลือ 256 สีได้ มักใช้กรณี ภาพที่ต้องการนำเสนอมีความละเอียดสูง และใช้สีจำนวนมาก (สนับสนุนถึง 24 bit color) , ต้องการบีบไฟล์ตามความต้องการของผู้ใช้ , ไฟล์ชนิดนี้มักจะใช้กับภาพถ่ายที่นำมาสแกน และต้องการนำไปใช้บนอินเทอร์เน็ต เพราะให้ความคมชัดและความละเอียดของภาพสูง
จุดเด่น
  • สนับสนุนสีได้ถึง 24 bit
  • สามารถกำหนดค่าการบีบไฟล์ได้ตามที่ต้องการ
  • มีระบบแสดงผลแบบหยาบและค่อยๆ ขยายไปสู่ละเอียดในระบบ Progressive
  • มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก
  • เรียกดูได้กับ Graphics Browser ทุกตัว
  • ตั้งค่าการบีบไฟล์ได้ ( compress files)
จุดด้อย
          ทำให้พื้นของรูปโปร่งใสไม่ได้
              3)  บีเอ็มพี (bitmap)  หรือที่มีส่วนขยายแฟ้มเป็น  .bmp เป็นรูปแบบของแฟ้มภาพกราฟิกซึ่งออกแบบโดยบริษัทไมโครซอฟต์  เป็นรูปแบบพื้นฐานที่ใช้งานได้ดีกับโปรแกรมที่ทำงานภายใต้วินโดว์ และใช้งานมากบนระบบวินโดว์  จุดประสงค์ของรูปแบบ นี้เน้นให้แสดงผลได้รวดเร็วบนระบบวินโดว์  ขนาดของแฟ้มภาพที่ได้จึงมักมีขนาดใหญ่กว่ารูปแบบของแฟ้มชนิดอื่น  ปกติภาพที่ได้จากโปรแกรมการวาดภาพจะมีรูปแบบของแฟ้มเป็น .bmp ไฟล์ BMP ที่เห็นบ่อยๆ คือ ภาพวอลล์เปเปอร์ที่แสดงบนจอภาพของวินโดว์ โดยสามารถแสดงได้ตั้งแต่ 2,16,256 และ 16 ล้านสี

ข้อควรคำนึงในการจัดเก็บแฟ้มภาพกราฟิก 
           1)  เลือกใช้จำนวนสีให้เหมาะสม   การใช้จำนวนสีมากจะทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูง  แต่จะสิ้นเปลืองเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมาก  ดังนั้นการเลือกใช้จำนวนสีที่เหมาะสมกับภาพจะทำให้เปลืองเนื้อที่น้อยกว่าและส่งผลให้สามารถประมวลผลภาพได้เร็วขึ้น  ตัวอย่างเช่น  ภาพที่ใช้จำนวนสี  16 ล้านสี  (24 บิต)  ต้องการเนื้อที่ต่อจุดเป็น 3 เท่าของภาพที่ใช้จำนวนสี 256 สี  ภาพบางภาพที่เป็นแผนภูมิอาจใช้จำนวนสี 16 สี ก็เพียงพอ
           2)  เลือกรูปแบบแฟ้มข้อมูลกราฟิกที่ทำให้การจัดเก็บข้อมูลมีขนาดลดลง  รูปแบบแฟ้มข้อมูลกราฟิกมีผลขนาดของแฟ้มข้อมูล  เช่น  รูปแบบแฟ้มข้อมูลกราฟิ แบบ  bmp  ถูกออกแบบมาเพื่อให้นำแสดงผลได้รวดเร็ว  แฟ้มเหล่านี้จะกินเนื้อที่มาก รูปแบบแฟ้มข้อมูลกราฟิกแบบเจเพ็ก  (.jpeg) มีผลให้คุณภาพของภาพด้อยลง  แต่ลดขนาดแฟ้มภาพกราฟิกให้มีขนาดหนึ่งในสามของรูปแบบแฟ้มข้อมูลกราฟิกแบบจิฟ (.gif)  ในขณะที่รูปแบบแฟ้มข้อมูลกราฟิกแบบจิฟ (.gif) เก็บจำนวนสี 256 สี  ดังนั้นควรเลือกรูปแบบแฟ้มข้อมูลกราฟิกที่เหมาะสมกับการใช้งานเพื่อจะได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ในการจัดเก็บภาพกราฟิก
           3)  เลือกใช้โปรแกรมบีบอัดข้อมูล   ในกรณีที่ไม่สามารถเก็บภาพในรูปแบบแฟ้มที่ลดขนาดข้อมูล  การเลือกใช้โปรแกรมบีบอัดข้อมูลบางตัว เช่น  pkzip หรือ  winzip จะช่วยลดขนาดข้อมูลในการจัดเก็บลงแฟ้มได้

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น