เทคนิคการสร้างภาพกราฟิก


เทคนิคการสร้างภาพกราฟิก 
 
             การสร้างภาพกราฟิกด้วยคอมพิวเตอร์มีเทคนิคอยู่สองวิธี  คือ  กราฟิกแผนที่บิต (bitmapped graphics)  หรือกราฟิกแรสเตอร์ (raster graphics)  หรือกราฟิกจุดภาพ (pixel graphics) และกราฟิกเส้นสมมติ (vector graphics)  หรือกราฟิกเชิงวัตถุ (object – oriented graphics)  ภาพกราฟิกที่สร้างด้วยวิธีการทั้งสองแบบมีความเหมาะสมต่อการใช้งานที่แตกต่างกัน  จึงควรมีความเข้าใจถึงลักษณะและข้อดีข้อเสียของวิธีการทั้งสองแบบ  เพื่อให้สามารถเลือกใช้งานได้อย่างถูกต้องดังนี้
3.2.1  กราฟิกแผนที่บิตหรือภาพแบบบิตแมป (bitmapped graphics)
             โปรแกรมสำหรับสร้างภาพโดยใช้เทคนิคกราฟิกแผนที่บิต  ซึ่งทั่วไปเรียกว่า  โปรแกรมระบายสี (paint program)  จะสร้างและเก็บภาพกราฟิกไว้ในรูปแบบของจุดบนจอภาพ (screen pixels)  ซึ่งเรียงต่อกัน  โดยแต่ละจุดภาพ (pixels)  จะแยกกันยู่ในตำแหน่งหน่วยความจำอย่างอิสระ  มีลักษณะประจำของจุดแต่ละจุด  เช่น  สี  ความเข้มแสง  จึงทำให้สามารถปรับแต่งสีได้อย่างสวยงาม  แต่เนื่องจากการเรียงต่อของจุดภาพอยู่ในลักษณะตาราง  ภาพที่ได้จึงมีรอยหยักที่เกิดจากรูปสี่เหลี่ยมของจุดแต่ละจุด  จะเห็นได้ชัดเมื่อรูปนั้นประกอบด้วยเส้นโค้งหรือเส้นทแยง และจะชัดเจนขึ้นเมื่อปรับขยายภาพขึ้นดังรูปที่ 3.4  แต่ถ้ากำหนดให้ความหนาแน่นของจุดภาพที่ประกอบกันเป็นภาพหรือความละเอียดของภาพมีจำนวนจุดมากเท่าใดก็จะได้ภาพคมชัดมากเท่านั้น  และในขณะเดียวกันก็จะใช้เนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมากขึ้นด้วย  จอภาพของคอมพิวเตอร์สามารถกำหนดให้มีความละเอียดที่ประกอบด้วยจุดภาพจำนวน 640 x 480 จุด  ถึง 1024 x 768 จุด  และกำหนดให้แต่ละจุดมีจำนวนสีได้ตั้งแต่  16 สี ถึง 16.7 ล้านสี  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของจอภาพแลแผงวงจนแสดงผล


รูปที่ 3.4  ตัวอย่างภาพแผนที่บิตเมื่อขยาย  700 เท่า

          ภาพที่สร้างด้วยวิธีนี้  พบได้ทั่วไปจากภาพถ่ายจากกล้องดิจิทัล  ภาพจากเครื่องกราดตรวจ  วีดิโอเกม  ภาพยนตร์  กระดานอิเล็กทรอนิกส์  ภาพการ์ตูน  งานโฆษณาทั่วไป
ตัวอย่างไฟล์ :  .BMP, .PCS, .TIF, .GIF, .JPG, .PCD
ตัวอย่างโปรแกรมกราฟิกประเภทบิตแมป เช่น Adobe Photoshop , Fractal Design Painter , Paint Shop Pro , L-View เป็นต้น
ข้อดีของกราฟิกแผนที่บิต 
           •  สามารถเก็บรายละเอียดของภาพให้มีสีสันต่าง ๆ ได้ดีกว่า เหมาะสำหรับภาพที่ต้องการระบายสี สร้างสี หรือกำหนดสีที่ต้องการความละเอียด สวยงามได้ง่าย
           •  สามารถตกแต่งภาพและเพิ่มรายละเอียดพิเศษที่น่าสนใจ  เช่น  ปรับความเข้มแสง  ปรับแต่งสี  แรเงา
ข้อเสียของกราฟิกแผนที่บิต 
           •  สิ้นเปลืองเนื้อที่ในการจัดเก็บแฟ้มภาพ
           •  การประมวลผลภาพบางอย่างมีข้อจำกัด  เช่น  การหมุนภาพ  การปรับขนาดหรือสัดส่วนภาพถ้านำภาพมาขยาย ความสวยงามจะลดลง แต่ถ้าเพิ่มความละเอียด จะทำให้ภาพมีขนาดใหญ่

3.2.2  กราฟิกเส้นสมมติหรือภาพแบบเวกเตอร์(vector graphics)
             โปรแกรมสำหรับสร้างภาพที่ใช้เทคนิคกราฟิกเส้นสมมติโดยทั่วไปเรียกว่า  โปรแกรมวาดภาพ (draw program)  จะสร้างและเก็บข้อมูลภาพกราฟิกไว้ในรูปแบบสูตรทางคณิตศาสตร์ที่บอกตำแหน่งของเส้นหรือจุดและความสัมพันธ์ว่า  จุดใดหรือเส้นใดเชื่อมโยงกันบ้าง  จึงสามารถปรับขนาดของภาพไดง่าย  และไม่ทำให้เสียรูปทรง  ภาพที่ใช้เทคนิคนี้จึงประกอบด้วยวัตถุที่เห็นได้ชัดเจน  เช่น  เส้น  วงกลม  วงรี  และรูปเหลี่ยมต่าง ๆ  วัตถุแต่ละชิ้นที่ประกอบเป็นภาพจะเป็นเอกเทศสามารถแก้ไขได้อย่างอิสระ  ตัวอย่างกราฟิกเส้นสมมติที่พบได้ทั่วไปคือ  ชุดแบบอักษร (font)  ซึ่งพบว่า  เมื่อปรับขนาดของตัวอักษรจะไม่ทำให้สัดส่วนของภาพเสียไป  ดังรูปที่  3.5



รูปที่ 3.5  การขยายขนาดของชุดแบบอักษร

             ภาพที่สร้างโดยใช้เทคนิคนี้  พบได้ในงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม  วิศวกรรม  การร่างโครงร่างต่าง ๆ งานวิทยาศาสตร์  งานออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย  และงานที่ต้องการภาพที่มีสัดส่วนแน่นอน
ตัวอย่างไฟล์ :  .EPS, .WMF, .CDR, .AI, .CGM, .DRW, .PLT
ตัวอย่างโปรแกรมกราฟิกประเภทเวกเตอร์ เช่น Adobe Illustrator , Macromedia Freehand , Corel Draw เป็นต้น
ข้อดีของกาฟิกเส้นสมมติ 
             •  การจัดเก็บสิ้นเปลืองเนื้อที่น้อยกว่ากราฟิกแผนที่บิตมาก
             •  การประมวลผลบางอย่างเช่น การย่อขยายเปลี่ยนแปลงขนาดได้โดยความละเอียดไม่ลดลง การหมุนจะทำได้ดีกว่า
ข้อเสียของกราฟิกเส้นสมมติ 
             •  ไม่สามารถเก็บรายละเอียดของสีสันต่าง ๆ ได้ดี  เนื่องจากเก็บในรูปแบบสูตรของเส้น



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น