ระบบไมโครคอมพิวเตอร์สำหรับงานกราฟิก


ระบบไมโครคอมพิวเตอร์สำหรับงานกราฟิก
     ถ้าพิจารณาระบบคอมพิวเตอร์ที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะไมโครคอมพิวเตอร์(Micro Computer) หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer : PC)  จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ  คือ  เครื่องคอมพิวเตอร์  จอภาพ  แผงแป้นอักขระ  และเมาส์  ดังนี้ 
   

รูปที่ 2.1  ไมโครคอมพิวเตอร์

          2.2.1  เครื่องคอมพิวเตอร์   ซึ่งภายในประกอบด้วยแผงวงจรหลัก (main board)  ที่มีไมโครโปรเซสเซอร์ (microprocessor)  ทำหน้าที่ในการประมวลผล  เปรียบเสมือนมันสมองของเครื่อง  หน่วยความจำ (memory)  ซึ่งใช้เก็บข้อมูลระหว่างการประมวลผล  วงจรเชื่อมต่อกับภายนอก และแหล่งจ่ายพลังงาน (power supply)




รูปที่ 2.2 ส่วนประกอบภายในเครื่องคอมพิวเตอร์

           2.2.2  จอภาพ   (Monitor)  เป็นส่วนที่ใช้แสดงผลโดยจะทำงานร่วมกับวงจรแสดงผลซึ่งทำหน้าที่แปลงคำสั่งที่ได้จากหน่วยประมวลผลกลางให้อยู่ในรูปแบบที่จะใช้งานกับจอภาพ


                           

รูปที่ 2.3  ตัวอย่างจอภาพและแผงวงจรแสดงผล

              ขนาดของจอภาพจะวัดจากแนวเส้นทแยงมุมของจอภาพ  โดยทั่วไปมีขนาด 14 นิ้ว หรือ   15 นิ้ว  สำหรับความคมชัดของจอภาพขึ้นกับขนาดของที่ตั้งจุดภาพ (dot pitch)  ถ้ามีค่าน้อยเท่าไรจะสามารถให้ภาพมีความคมชัดมากเท่านั้น  จึงเป็นตัวกำหนดคุณภาพของจอภาพ  ขนาดของที่ตั้งจุดภาพที่มีค่าน้อยกว่า 0.28 มิลลิเมตร  ถือว่าเป็นจอภาพที่มีคุณภาพดีที่สุด  จอภาพทั่วไปมีขนาดของที่ตั้งจุดภาพ 0.31 มิลลิเมตร
              จอภาพที่มีขนาดใหญ่มีข้อดี  คือ  เมื่อแสดงภาพในภาวการณ์ทำงาน (mode)  ที่มีความละเอียดของการแสดงผลสูง  จะทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าจอภาพที่มีขนาดเล็ก  ความละเอียดของการแสดงผล  หมายถึงจำนวนจุดทั้งหมดที่แสดงบนจอภาพในแนวตั้งและแนวนอน  แต่ละจุดบนจอภาพนี้  เรียกว่า  จุดภาพ (pixel)  ความสามารถในการแสดงความละเอียดของการแสดงผลและจำนวนสีขึ้นกับแผงวงจรแสดงผล  ในระบบไมโครคอมพิวเตอร์การแสดงผลโดยทั่วไปจะแบ่งภาวการณ์ทำงานเป็นดังนี้



รูปที่  2.4  ตารางแสดงภาวการณ์ทำงานของแผงวงจรแสดงผล

              ถ้าความละเอียดของการแสดงผลสูงหรือมีจำนวนจุดมาก  ภาพที่ปรากฏบนจอภาพจะเล็กลง  ทำให้มีเนื้อที่ใช้งานบนจอภาพมากขึ้น  การจะเลือกใช้ความละเอียดขนาดใดขึ้นกับงานแต่ละชิ้น

                     
                         640 x 480  จุด                              800 x 600  จุด                                 1024 x 800  จุด


รูปที่ 2.5  เปรียบเทียบจอภาพที่มีความละเอียดของการแสดงผลแตกต่างกัน

                สำหรับจำนวนสีจะเป็นตัวกำหนดสีสันของภาพว่ามีความสมจริงเพียงใด  จำนวน  16 สี  ภาพจะดูหยาบ  จำนวน 256 สี  เหมาะกับการใช้งานทั่วไป  จำนวน 65,536 สี หรือ 16 บิต  ระดับสีที่เหมาะกับงานกราฟิก  สื่อประสม  และสิ่งพิมพ์  จำนวนสี 16,777,216 สี หรือ 24 บิต  ซึ่งเรียกว่า  สีจริง (true color)  เป็นสีสมจริงตามธรรมชาติ  เหมาะสำหรับงานตกแต่งภาพและงานสิ่งพิมพ์คุณภาพสูง

     
                                จำนวน 16 สี                                                                                จำนวน 256 สี 


รูปที่ 2.6  ตัวอย่างการแสดงจำนวนสี

          2.2.3  แผงแป้นอักขระ  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้อนข้อมูลซึ่งเป็นตัวอักขระเข้าสู่คอมพิวเตอร์  โดยการพิมพ์ตัวอักขระต่าง ๆ
          2.2.4  เมาส์  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้อนข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์  โดยการขยับลูกกลิ้งใต้ตัวเมาส์ซึ่งจะไปควบคุมการเลื่อนตัวชี้ไปชี้ข้อมูลบนจอภาพและเลือกตัวเลือกต่าง ๆ โดยการกดปุ่มบนตัวเมาส์  โปรแกรมกราฟิกส่วนใหญ่จะใช้เมาส์ช่วยในการวาดรูปต่าง ๆ
          2.2.5  อุปกรณ์ต่อพ่วงพิเศษ  นอกจากส่วนประกอบสำคัญที่กล่าวมาแล้ว  ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานทางด้านกราฟิกยังมีอุปกรณ์ต่อพ่วงเพิ่มเติมอื่นอีก  เช่น
                    1)  กระดานกราฟิก
                                  กระดานกราฟิก (graphic tablet) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์กราฟิก โดยช่วยให้สามารถวาดภาพกราฟิกในคอมพิวเตอร์ได้เช่นเดียวกับการวาดภาพบนกระดาษ  อุปกรณ์นี้จะมีส่วนที่เป็นเมนูคำสั่งบนอุปกรณ์และส่วนวาดภาพ  เมื่อลากเส้นบนส่วนวาดภาพโดยใช้ปากกาที่ให้มาด้วยจะปรากฏเส้นบนจอคอมพิวเตอร์ในลักษณะเดียวกัน  นอกจากนั้นยังสามารถเปลี่ยนสีปากกาและระบายสีได้  อุปกรณ์นี้เหมาะกับงานกราฟิกทางด้านศิลปะหรือการตกแต่งภาพที่ได้จากอุปกรณ์นำเข้าภาพ

     


รูปที่ 2.7  กระดานกราฟิกแบบต่าง ๆ

                          2)  เครื่องอ่านพิกัด
                                 เครื่องอ่านพิกัด (Digitizer)  เป็นอุปกรณ์นำเข้าข้อมูลภาพอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นกระดานและมีส่วนนำเข้าข้อมูลซึ่งมีปุ่มกดอยู่  เมื่อผู้ใช้วางหัวนำเข้าบนกระดานและกดปุ่มอุปกรณ์จะรายงานตำแหน่งของหัวนำเข้าบนกระดานไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์  อุปกรณ์นี้มักจะใช้งานในการลอกแบบหรือนำเข้าแบบก่อสร้าง  แบบอุปกรณ์เครื่องมือและแผนที่  ซึ่งการประยุกต์ใช้จะเป็นงานด้านการผลิตใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer Aided Manufacturing : CAM) หรืองานสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์เป็นต้น




รูปที่ 2.8  เครื่องอ่านพิกัดแบบต่าง ๆ


                    3)  เครื่องกราดตรวจ 
                                  เครื่องกราดตรวจ (Scanner)  อุปกรณ์นี้ทำงานคล้ายกับเครื่องถ่ายเอกสาร  โดยมีหัวอ่านซึ่งรับภาพที่วางบนเครื่องเป็นข้อมูลส่งให้กับคอมพิวเตอร์  ทำให้สามารถเปลี่ยนภาพถ่ายหรือเอกสารต่าง ๆ เป็นภาพกราฟิกในคอมพิวเตอร์ได้


รูปที่ 2.9  เครื่องกราดตรวจแบบต่าง ๆ

                   4)  เครื่องพิมพ์ 
                                เครื่องพิมพ์ (Printer)  เป็นอุปกรณ์สำคัญซึ่งพิมพ์งานกราฟิกออกมาบนกระดาษเพื่อนำไปใช้งาน  เครื่องพิมพ์ที่นิยมใช้มีดังนี้
                        4.1)  เครื่องพิมพ์แบบจุด (Dot matrix printer)  ปกติมักจะใช้ในการพิมพ์เอกสารที่มีลักษณะเป็นข้อความมากกว่าจะใช้ในงานกราฟิก  เนื่องจากมีคุณภาพในการพิมพ์งานกราฟิกต่ำ
                        4.2)  เครื่องพิมพ์เลเซอร์ (Laser printer)  เครื่องพิมพ์แบบนี้มีคุณภาพสูง  อาจจะพิมพ์ภาพที่ได้ความละเอียด 300- 1200 จุดต่อนิ้ว  อย่างไรก็ตามเครื่องพิมพ์เลเซอร์ที่เป็นสียังมีราคาแพงมากจึงมักจะพบแต่แบบขาวดำ  ซึ่งเหมาะกับการพิมพ์เอกสารรายงานและจดหมายต่าง ๆ
                        4.3)  เครื่องพิมพ์แบบฉีดหมึก (Inkjet printer) เป็นเรื่องพิมพ์ที่มีราคาถูกและความละเอียดปานกลางถึงความละเอียดสูง  ทำงานโดยอาศัยฉีดหมึกจากตลับขาวดำและสีลงบนกระดาษด้วยความเร็วสูง  ในปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้กันมากในงานกราฟิก  เนื่องจากเครื่องพิมพ์สีชนิดนี้จะมีราคาถูก


           

                         เครื่องพิมพ์แบบจุด                                                                      เครื่องพิมพ์เลเซอร์ 


เครื่องพิมพ์แบบฉีดหมึก

                   5)   พล็อตเตอร์ 
                                  พล็อตเตอร์ (Plotter)  เป็นอุปกรณ์แสดงผลกราฟิกที่มีปากกาเคลื่อนที่บนแกน  สามารถเขียนรูปร่างต่าง ๆ  บนกระดาษตามคำสั่งจากโปรแกรม  ปกติจะใช้ในการเขียนแบบทางวิศวกรรมเป็นส่วนใหญ่



รูปที่ 2.11  พล็อตเตอร์แบบต่าง ๆ

                          6)  ปากกาแสง และจอสัมผัส
                                 ปากกาแสง (Light pen)  เป็นปากกาพิเศษที่มีสานต่อไปยังระบบคอมพิวเตอร์  ใช้สำหรับการบอกตำแหน่ง  ข้อดีของปากกาแสงคือ  สามารถจี้ไปบนจอภาพโดยตรงเพื่อบอกตำแหน่งของวัตถุซึ่งมองเห็นบนจอภาพได้ทันที
                                 จอสัมผัส (Touch screen)  จะทำงานคล้ายกับปากกาแสง แต่จอภาพจะเคลือบสารพิเศษ  ทำให้สามารถรับตำแหน่งของการสัมผัสด้วยมือมนุษย์ได้ทันที



รูปที่ 2.12  ปากกาแสงและจอสัมผัส



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น